เดี๋ยวนี้วิธีป้องกันและกำจัดปลวกก็มีกันหลากหลาย จนเจ้าของบ้านเริ่มงงๆ ว่าวิธีป้องกันและกำจัดปลวกแบบไหนที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด วันนี้มีโอกาสคุณกับ คุณนำชัย ลอยฤทธิวุฒิไกร จากบริษัทเชียงไทย เทรดดิ้ง จำกัด ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำยารักษาเนื้อไม้ป้องกันศัตรูทำลายเนื้อไม้มากว่า 20 ปีให้ความรู้เรื่องปลวกและวิธีป้องกันและกำจัดปลวกที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทย
หลายๆ คนคงอยากรู้ว่าเราควรจะใช้วิธีอะไรที่จะได้ผลมากที่สุดเพื่อที่ไม่ให้ปลวกขึ้นเบ้าน ก่อนที่จะตอบคำถามนั้นได้ เราก็คงต้องมารู้จักกับปลวกให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะนิสัยของมันและหาทางจัดการมันได้ถูกวิธี คุณนำชัยเล่าให้ฟังตั้งแต่ ชนิดของปลวกที่สร้างความเสียหายกับบ้านของเรา ปลวกเข้าบ้านได้อย่างไร จนไปถึงข้อดีข้อเสียของวิธีป้องกันปลวกแบบต่างๆ และสำหรับคนที่ไม่อยากจะฆ่าสัตว์มีทางเลือกอะไรมั๊ยที่จะป้องกันทรัพย์สินของตัวเองโดยไม่ต้องเบียดเบียนชีวิตอื่นๆ
ปลวกที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน
ปลวกเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับมดหรือยุง แต่อาจจะต่างกันตรงที่ปลวกไม่ได้สร้างความรำคาญแต่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน โชคดีที่โครงสร้างของบ้านในประเทศไทยมักเป็นปูนและอิฐ ทำให้ความเสียหายที่เกิดจากปลวกไม่มีผลกระทบถึงความแข็งแรงของตัวโครงสร้างเอง ในระบบนิเวศน์ธรรมชาติ ปลวกเป็นแมลงที่สร้างความสมดุลย์ให้กับป่าและรังของปลวกบางชนิดยังเป็นบ้านให้กับอาหารอย่างโอชะอย่างเห็ดโคนอีกด้วย
คุณนำชัยบอกว่า ทั่วโลกมีปลวกอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ แต่ที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนมากที่สุด ทั้งที่อเมริกา แอฟริกา เอเชีย และในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทหลักๆ และเพื่อให้เข้าใจง่ายก็เลยแบ่งประเภทตามแหล่งที่อยู่อาศัยของมัน ดังนี้
1. ปลวกใต้ดิน (subterranean termites)
2. ปลวกไม้แห้ง (dry-wood termites)
3. ปลวกไม้ชื้น
ปลวกใต้ดิน 90% ของปลวกที่ทำลายบ้านและทรัพย์สินของเราเกิดจากปลวกที่อาศัยอยู่ใต้ดิน และ 90% ของสายพันธ์ปลวกใต้ดินที่ชอบกัดกินทำลายบ้านและทรัพย์สินของบ้านในเขตเมืองที่เราอยู่อาศัยของคือ เจ้า Coptotermes Geslroi ปลวกสีขาวๆ ที่หลายคนคงเคยเห็น หรือพูดง่ายๆ ว่า 80% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปลวกเกิดจากปลวกใต้ดินสายพันธ์ coptotermes Geslroi นั่นเอง เห็นตัวเล็กๆ แบบนี้ แต่พลังการทำลาย (กิน) ไม้สูงและรวดเร็วมาก อาศัยทำรังอยู่ใต้พื้นดินหรือตามที่มืดๆ อับชื้น เพราะว่าตัวขาวมาก ก็เลยแพ้แดดแพ้แสง ทำให้เวลาเดินทางต้องสร้างท่อทางเดิน จะต้องใช้ดินทำอุโมงค์ทรายเล็กๆ คลุมขึ้นมา ซึ่งบ้านที่เคยโดนปลวกขึ้น คงเคยเห็นท่อทางเดินของปลวกเหล่านี้
ปลวกไม้แห้ง ปลวกชนิดนี้จะทำรังอยู่ตามไม้แห้งตามชื่อของมัน โชคดีว่าบ้านที่สร้างในประเทศไทยส่วนใหญ่โครงการเป็นปูน เป็นเหล็ก ปลวกไม้แห้งเลยไม่เป็นอันตรายกับโครงสร้าง ยกเว้นบ้านตามต่างจังหวัดที่สร้างอยู่ใกล้แหล่งน้ำและยังมีเสาหรือคานเป็นไม้อยู่ อย่างบ้านทรงไทยโบราณที่มักจะต่อเสาไม้ขึ้นมาจากเสาปูน
แต่ก็อย่าเพิ่งโล่งใจไปว่าปลวกชนิดนี้จะไม่สร้างความเสียหายให้โครงสร้าง เพราะบ้านหลายหลังก็ยังใช้ไม้เป็นพื้น ไม้เป็นวงกบประตูหน้าต่าง แล้วก็เป็นเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยชั้นดีของปลวกชนิดนี้
ปลวกไม้ชื้น รายนี้ชอบอยู่ตามไม้ที่ยังมีชืวิตเนื่องจากต้องอาศัยความชื้นจากต้นไม้ ก็เลยไม่ถูกจัดให้อยู่ในแก๊งค์สร้างความเสียหายหรือมีผลกระทบกับบ้าน แต่จะไปรบกวน สร้างปัญหาให้ต้นไม้ในสวนมากกว่า
ปลวกบุกเข้าบ้านได้อย่างไร
อย่างที่กล่าวไว้ข้างบนว่า 90% ของปลวกที่สร้างความเสียหายในประเทศไทย เป็นปลวกที่อาศัยอยู่ใต้ดิน เมื่อเราสร้างบ้านอยู่บนดิน ปลวกจึงเข้าสู่ตัวบ้านจากใต้พื้นดินและเข้าบ้านผ่านทางรอยแตก รอยแยกของผนังหรือจุดเชื่อมต่อของระบบท่อเข้าสู่ตัวบ้าน โดยปลวกจะสร้างท่อทางเดินพาเหรดออกไปหาแหล่งอาหารอย่างเงียบๆ (ที่เราเห็นคล้ายอุโมงค์ดินเกาะอยู่ตามผนัง หรือเสาคานบ้านนั่นเอง) และอย่างที่กล่าวไปข้างบนปลวกขาวๆ พวกนี้แพ้แสง มันจะสร้างท่อทางเดินขึ้นมาจากดินเข้าสู่ตัวบ้านในบริเวณที่มืดๆผ่าน ท่อน้ำ ท่อสายไฟ ผนังที่มีรอยแตก หรือเสาคาน โดยที่เราจะมองไม่เห็นจากภายนอกเลย เมื่อเข้าได้แล้วก็จะกัดกิน ทำลายส่วนประกอบต่างๆ ในบ้านที่เป็นไม้ เช่น ฝ้า พื้นไม้ วงกบประตูหน้าต่างหรือพวกเฟอร์นิเจอร์ชุดบิวท์อินทั้งหลาย โดยที่เราไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวอีกที บิวท์อินทั้งหลายก็โดนกินไปเสียเกือบหมดแล้ว
ปลวกเหล่านี้นอกจากอาศัยอยู่ใต้ดิน แล้วยังอาศัยบิวท์อิน หรือพื้นไม้ของบ้านเรา เป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้มัน
แล้วสงสัยกันมั้ยว่าทำไมคอนโดฯ สูง 20-30 ชั้นถึงยังมีปลวกใต้ดินขึ้นรบกวนได้อีก ต้องบอกว่าปลวกเป็นแมลงที่ฉลาดและปรับตัวได้ดีมาก โดยธรรมชาติจะอาศัยทำรังอยู่ใต้ดินแล้วออกไปหาอาหารจากแหล่งต่างๆ กลับมาที่รัง แต่เมื่อแหล่งอาหารย้ายขึ้นไปอยู่บนคอนโดฯ สูงๆ ปลวกก็จะปรับวิธีหากินด้วยการ ไปสร้างรังย่อยหรือ satellite colony อยู่ตามจุดต่างๆ ที่พอจะหาแหล่งน้ำหรือความชื้นได้ เช่น บริเวณที่มีการรั่วซึมของท่อน้ำ อับชื้นภายในอาคาร แทนการเดินกลับลงไปที่รังใหญ่ใต้ดิน
เพราะฉะนั้นต่อให้ทางโครงการจะมีการฉีดพ่นอัดน้ำยากันปลวกกันทุก 3 เดือน 6 เดือนแล้วก็ตาม แต่อย่าลืมว่าปลวกทำรังย่อยอยู่บนตัวอาคารอยู่แล้ว การอัดน้ำยาลงดินจึงอาจจะไม่ช่วยป้องกันปลวกได้ทั้งหมด นอกเสียจากหาทางป้องกันอีกชั้นด้วยการรักษาเนื้อไม้ไม่ให้กลายเป็นแหล่งอาหารของปลวกอีกชั้นหนึ่ง หรือพยายามหารังย่อยเหล่านั้น และกำจัดให้หมดไปในคราวเดียวกัน
วิธีป้องกันปลวกแบบต่างๆ
วิธีป้องกันปลวกที่ใช้กันทุกวันนี้ คุณนำชัยบอกว่า มีใช้กัน 108 วิธีที่จะป้องกันปลวกให้พ้นไปจากบ้าน ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดี ข้อจำกัดแตกต่างกันไป และเนื่องจากปัญหาเรื่องปลวกที่เกิดขึ้นมักเกิดขึ้นจากปลวกที่อาศัยอยู่ใต้ดิน วิธีการป้องกันปลวกส่วนใหญ่จึงเป็นวิธีป้องกันไม่ให้ปลวกจากใต้ดินสามารถเล็ดลอดเข้ามาในบ้านได้ พอจะแบ่งออกเป็น 4 วิธีใหญ่ได้ดังนี้
วิธีที่ 1 สร้าง แนวป้องกันทางกายภาพ physical barriers เพื่อไม่ให้ปลวกเข้าสู่ตัวบ้าน โดยใช้ข้อจำกัดตามธรรมชาติของปลวก
ปลวกเป็นแมลงที่ชอบสภาพพื้นที่มีความชื้น การที่ตัดช่องทางไม่ให้ปลวกเข้าสู่บ้านได้ก็คือการสร้างเงื่อนไขสภาพพื้นที่ที่ปลวกไม่สามารถผ่านได้ด้วยการ ใช้วัสดุอะไรก็ได้ที่ไม่อมน้ำหรือความชื้นมาทำเป็นแนวป้องกันปลวก รอบๆ เสาทุกต้นหรือบริเวณคานหรือจุดที่บ้านต้องสัมผัสกับดิน ด้วยการ เทกรวดหรือก้อนหิน รอบเสาๆ กว้าง / ลึกประมาณ 50 ซม. หรือใช้แผ่นสแตนเลสปูรอบ ๆ คานหรือทำตะแกรงสแตนเลส แม้กระทั่งแผ่นพลาสติก HDPE หนาๆ ตาถี่ๆ หุ้มส่วนที่เป็นรากฐานของบ้านเอาไว้ หรือใช้น้ำหล่อรอบคาน เพื่อไม่ให้ปลวกเดินทางจากใต้พิ้นดินเข้าไปยังตัวบ้านได้
ถึงแม้วิธีการนี้จะเป็นวิธีที่ธรรมชาติที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์ แต่วิธีการนี้ไม่เป็นที่นิยมเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการทำแนวป้องกันทุกจุดรอบบ้าน และยังต้องทำบล็อกกันดินไหลเข้ามาทับแนวป้องกันรอบๆ เสาอีกต่างหาก
วิธีที่สอง การทำดินให้เป็นพิษ
การทำพื้นดินใต้บ้านให้เป็นพิษเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมานานแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปจะทำกันอยู่สองช่วงหรือสองขั้นตอนคือ ก่อนการสร้างบ้าน หรือ pre-construction และ การทำ retreatment เมื่อเจ้าของบ้านเข้าอยู่แล้ว (post-construction) เมื่อดินเป็นพิษไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยแล้ว ปลวกก็จะไม่สามารถอาศัยอยู่ใต้ดินนั้นได้
ส่วนสารที่ทำให้ดินให้เป็นพิษก็มีอยู่หลายสูตร หลายแขนง แต่พอจะจำแนกตามสารที่ทำให้ดินเป็นพิษ และวิธีการนำสารเหล่านี้กระจายเข้าพื้นดิน
ก่อนที่จะพูดถึงเทคนิคการทำดินให้เป็นพิษ เราลองมาทำความเข้าใจสารต่างๆ ที่มีการนำมาใช้ในการทำให้ดินเป็นพิษและวิธีการออกฤทธิ์ของมัน สารที่ทำให้ดินเป็นพิษ
- สารเคมีกำจัดแมลง และปลวกชนิดต่างๆ มักจะออกฤทธิแบบสัมผัสแล้วตายแต่อาจจะมีความแตกต่างกันแง่ของการไล่ หรือไม่ไล่แมลง (Repellent หรือ Non repellent) ซึ่งมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันในรายละเอียดแล้วแต่บริษัทกำจัดปลวกจะเลือกใช้การกำจัดแมลงชนิดใดรวมทั้งเทคนิคการใช้งานที่แตกต่างกันด้วย
- สารสกัดจากสมุนไพร
การใช้สารเคมีทำดินให้เป็นพิษจนปลวกไม่สามารถอยู่อาศัยได้ นั้นทำกันมานานแล้ว สารที่ใช้เริ่มแรกๆ ก็มีตั้งแต่ DDT สารหนู (arsenic) ซึ่งเคมีพวกแรกๆ ที่นำมาใช้นี้ นอกจากจะเป็นพิษต่อแมลงแล้ว ยังเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยงอีกด้วย อย่างสารหนูนี่ 100 ปี ก็ยังไม่สลายตัว แล้วลองคิดถึงผลกระทบที่เคมีพวกนี้มีต่อสุขภาพของคนดู ในปัจจุบัน ทาง EPA และ WHO จึงมีการกำหนดไว้ว่า สารที่นำมาใช้เป็น soil treatment จะต้องมีการสลายตัวภายใน 20 ปี และได้มีการพัฒนาขึ้นมาอีกให้เคมีเหล่านี้มีพิษกับแมลงเท่านั้น โดยที่เป็นพิษกับคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมน้อยที่สุด
ส่วนการใช้สารสกัดจากสมุนไพรป้องกันปลวก เป็นวิธีที่ได้ผลจริง เพราะสมัยก่อนช่างทำเก้าอี้หวายก็จะใช้วิธีรมควันหรือทาด้วยสารสกัดจากสมุนไพรป้องกันแมลง มดปลวก แต่เนื่องจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ สารที่สกัดออกมาในแต่ละรุ่น ก็มักจะมี potency หรือ concentration ที่ไม่เท่ากัน นอกจากนั้นแล้ว ต้องไปดูที่กระบวนการสกัดด้วยว่าในการสกัดนั้นมีความเข้มข้นสม่ำเสมอเพียงใด แค่ไหน ถ้าเจือจางมากก็อาจไม่ได้ผลซึ่งตรงนี้ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าจะสารสกัดสมุนไพรที่มีการโฆษณาว่าป้องกันปลวกได้ จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญสารสกัดที่ได้จากธรรมชาติมักมีข้อจำกัดจะผลิตในปริมาณมากๆ ไม่ได้